โลโก้เว็บไซต์ เรียนรู้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด  M4 ณ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

เรียนรู้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด  M4 ณ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 20 ตุลาคม 2565 โดย สิริญญา ณ นคร จำนวนผู้เข้าชม 673 คน

(3) ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

          การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักๆมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก บริเวณรอยเลื่อนมีพลังซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย ตามรายงานของกรมทรัพยากรธรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือซึ่งประกอบไปด้วยรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมหลายจังหวัด ดังเช่น รอยเลื่อนแม่ทาที่พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน รอยเลื่อนแม่จันในจังหวัดเชียงราย รอยเลื่อนพะเยาครอบคลุมจังหวัดเชียงราย-พะเยา และรอยเลื่อนเถินครอบคลุมจังหวัดแพร่-ลำปาง เป็นต้น (รูปที่ 1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยเลื่อนแม่ทาซึ่งวางตัวใกล้แอ่งเชียงใหม่ ที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนจำนวนมาก ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหมู่มาก

Map

Description automatically generated

รูปที่ 1 รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา 4:36 น. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ขนาด M4 ที่ความลึก 2 km บริเวณกลุ่มของรอยเลื่อนแม่ทา (รูปที่ 1) ซึ่งจัดอยู่ในแผ่นดินไหวขนาดเบา (Light) ตามมาตรฐานของ United States Geological Survey (USGS) ที่สามารถรับรู้การสั่นไหวได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวอาคารบ้านเรือน อีกทั้งจะเห็นได้จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งรายงานมาตราวัดความเข้มของการสั่นไหว หรือ Modified Mercalli Intensity (MMI) เพียง MMI 3 เท่านั้น (พื้นที่สีม่วงเข้ม; รูปที่ 2)

Map

Description automatically generated

รูปที่ 2 ผลการวิเคราะห์แผ่นดินไหวเบื้องต้น จากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา จุดสีแดงแสดงตำแหน่งแผ่นดินไหว  เส้นสีม่วงแสดงรอยเลื่อนมีพลัง ลูกบอลสีแดงแสดงกลไกและลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว

ในส่วนผลการวิเคราะห์กลไกของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น[5] แสดงให้เห็นลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนชนิดตามแนวระดับ (strike-slip fault) ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะกลไกของรอยเลื่อนในกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งแผ่นดินไหว (epicenter) เกิดขึ้นภายในแอ่งเชียงใหม่ มิได้เกิดบริเวณขอบแอ่งซึ่งอาจบ่งบอกการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดบนรอยเลื่อนขนาดเล็ก และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวในระดับตื้น (2 km) อีกทั้งช่วงเวลาของการสั่น (rupture duration) เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ (< 5 s) อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์กลไกการเกิดแผ่นดินไหวในเชิงลึกยังคงมีความจำเป็นเพื่อความเข้าใจและรับมือแผ่นดินไหวที่อาจเกิดในอนาคต

          จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด M4 ณ จังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้น “เราพึงตระหนัก แต่ไม่ควรตื่นตระหนก” เมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้ตั้งสติ หากมีเวลาสามารถออกไปที่โล่งแจ้งได้ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่หากไม่สามารถออกไปหาที่โล่งได้ เช่น อยู่บนอาคารสูงหรืออยู่ในพื้นที่ผู้คนแออัด ควรหาที่กำบังเพื่อป้องกันสิ่งของที่อาจตกใส่ขณะแผ่นดินไหว อีกทั้งควรหากระเป๋าฉุกเฉินที่บรรจุชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น น้ำดื่ม อาหารแห้ง นกหวีด ไฟฉาย เตรียมไว้ในที่พักพร้อมใช้งานในกรณีฉุกเฉิน อีกประการหนึ่งหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเรายังคงต้องสังเกตุและมีสติ คอยสอดส่อง ฟังเสียง เนื่องจากอาจมีความเป็นไปได้ที่แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นแผ่นดินไหวนำ (foreshock) ที่อาจตามมาด้วยแผ่นดินไหวหลัก (mainshock) ที่มีขนาดความรุนแรงมากกว่า

 

 

 

บทความโดย

        ถิร  ธาดาพรรษวุฒิ

เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีฟิสิกส์

อาจารย์ถิร  ธาดาพรรษวุฒิ  ระดับการศึกษา : ปริญญาเอก
หลักสูตร : Doctor of Philosophy
กลุ่มสาขา : Basic / broad general programmes
สาขา : Earth Evolution Sciences
สถานที่ศึกษา : University of Tsukuba
ประเทศ : ญี่ปุ่น

 






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา